ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องยังเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีผลโดยตรง ต่อเศรษฐกิจ
คงเป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธว่าอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง และมีเม็ดเงินหมุนเวียนหลายแสนล้านบาทต่อปี ทำให้รัฐบาลพยายามผลักดันและส่งเสริมให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน แต่เมื่อพิจารณาถึงแนวทางและนโยบายการดำเนินงาน ในภาพรวม จะพบว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยยังขาดความชัดเจนและแผนยุทธศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง เพราะขาดการกำกับดูแลอย่างเป็นระบบ ทำให้หน่วยงานหรือองค์กรที่จะเข้ามารับผิดชอบอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศไทยมีความจำเป็นมากขึ้นทุกขณะ เพื่อสร้างรากฐานให้งานก่อสร้างในประเทศไทยมีศักยภาพเทียบเท่ากับนานาประเทศได้
อุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นอุตสาหกรรมที่มีอิทธิพลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศสูง โดยที่ตัวเลข GDP หรืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเกือบ 10% เป็นอัตราการเติบโตจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยคาดว่าในปี พ.ศ. 2547 อุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโต กว่า 10% วงเงินในการลงทุนก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 5-6 แสนล้านบาท ซึ่งวงเงินลงทุนดังกล่าวเป็นอัตราการขยายตัวในการ ลงทุนด้านก่อสร้างเพิ่มมากขึ้นถึง 17% ของภาคเอกชนและ 16% สำหรับภาครัฐ
อีกทั้งภาพของอุตสาหกรรมการก่อสร้างในประเทศไทย ในช่วงระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนแปลงไปจากจำนวนผู้ที่ได้รับการอนุมัติการก่อสร้างทั้งหมด โดยพบว่า ส่วนใหญ่อยู่นอกเขตเทศบาล เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้ได้รับการอนุมัติการก่อสร้างที่อยู่นอกเขตเทศบาลทั้งสิ้น 62% และภาคใต้ก็มีผู้ได้รับการอนุมัติการก่อสร้างนอกเขตเทศบาล 52% เป็นต้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่า Momentum ของการก่อสร้างในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป
เมื่อภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีผลโดยตรง ต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ความสำคัญของการมีองค์กรหรือหน่วยงานเพื่อบริหารจัดการอุตสาหกรรมก่อสร้างของประเทศไทยจึงเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักถึงอย่างจริงจัง ซึ่งหากพิจารณาถึงความเหมาะสมของการมีหน่วยงานหรือองค์กร เพื่อรับผิดชอบดูแลภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างของประเทศไทยแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความเกี่ยวข้องของหน่วยงานอื่นๆ ด้วย เนื่องจากประเทศไทยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมก่อสร้างหลายหน่วยงาน ดังนั้น การมีหน่วยงานที่ต้องเข้ามารับผิดชอบและกำกับดูแลอย่างจริงจัง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาร่วมกำกับดูแล เพื่อประสานงาน ระหว่างหน่วยงาน เช่นเดียวกับแนวทางการดำเนินงาน ในปัจจุบัน ที่ภาครัฐได้แบ่งเป็น Cluster ของกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกัน